วันอังคารที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ความซื่อสัตย์ ความรับผิดชอบ


“ ความซื่อสัตย์ ( Integrity ) ” ในการทำงาน .... สำคัญไฉน
          ก่อนอื่นต้องถามตัวคุณเองก่อนว่า คุณมีความซื่อสัตย์ ( Integrity) ในการทำงานมากน้อยแค่ไหน และแน่นอนว่าคงจะไม่มีใครตอบว่าตนเองไม่มีความซื่อสัตย์ ความซื่อสัตย์จึงเป็นคุณลักษณะที่สำคัญและเป็นที่ต้องการในทุกองค์การ ซึ่งความซื่อสัตย์นอกจากจะหมายถึงการ รักษาความลับ ผลประโยชน์ และทรัพย์สินต่าง ๆ ของบริษัทแล้ว ความซื่อสัตย์ยังหมายรวมไปถึงการให้ข้อมูลที่ถูกต้องและไม่บิดเบือนจากความเป็นจริง และการปฏิบัติตามระเบียบหรือกฎของบริษัท และยังพบว่าอีกว่ามีหลายองค์การได้กำหนดความซื่อสัตย์เป็นวัฒนธรรมองค์การ (Corporate Culture) หรือคุณค่าร่วม ( Core Value) ที่เกี่ยวข้องกับความคิดความเชื่อที่อยากให้พนักงานทุกคนปฏิบัติ
          แล้วทำไมคุณจะต้องมีความซื่อสัตย์ในการทำงาน ..... ความซื่อสัตย์ในการทำงานจะส่งผลโดยตรงต่อคุณลักษณะส่วนบุคคล ( Personal Attribute) ของตัวคุณเองที่คนอื่นมองหรือรับรู้ในตัวคุณว่าเป็นคนที่มีความซื่อสัตย์หรือไม่ นอกจากนี้ยังรวมไปถึงผลต่อเนื่องไปยังหน่วยงานและองค์การของคุณเอง ทั้งนี้คุณลักษณะของความซื่อสัตย์จะมีความสำคัญและส่งผลต่อตัวคุณและต่อหน่วยงานหรือองค์การของคุณ ขอสรุปได้ดังต่อไปนี้
          1. การได้รับ ความไว้วางใจ จากหัวหน้างานของคุณ พนักงานที่มีความซื่อสัตย์ย่อมทำให้หัวหน้างานพร้อมและกล้าพอที่จะมอบหมายงานที่สำคัญหรือเป็นความลับของบริษัทให้กับคุณ เพราะหัวหน้าไว้วางใจตัวคุณเพราะรู้ว่างานที่มอบหมายให้ไปนั้นคุณต้องทำเสร็จและข้อมูลที่คุณทำนั้นมีความถูกต้องอย่างแน่นอน
          2. ความน่าเชื่อถือ ได้ของตัวคุณ คุณจะได้รับการยอมรับและการกล่าวถึงในทางที่ดีจากบุคคลรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นหัวหน้างาน เพื่อนร่วมงาน ลูกน้อง หรือแม้กระทั่งลูกค้าของคุณเอง เช่น ยอมรับว่าคุณมีความรับผิดชอบและความตั้งใจทำงาน เนื่องจากคุณไม่เคยที่จะขาดงานหรือมาสาย รวมทั้งข้อมูลที่คุณให้นั้นมีความถูกต้องและเป็นปัจจุบันเสมอ
          3. สร้างผลงาน ( Performance) ของตัวคุณ ความซื่อสัตย์ทำให้คุณมีโอกาสทำงานใหญ่หรือสำคัญ ซึ่งอาจเป็นงานที่มีผลกระทบต่อหน่วยงานหรือองค์การ โดยคุณจะมีโอกาสแสดงฝีมือการทำงานของคุณและโอกาสนี้เองย่อมจะส่งผลต่อเนื่องไปยังผลผลการปฏิบัติงาน     ( Performance) และมูลค่าเพิ่ม ( Added Value) ของตัวคุณเอง
          4. รักษาผลประโยชน์ของหน่วยงาน/บริษัท หากคุณมีความซื่อสัตย์แล้วล่ะก็ ย่อมหมายถึงคุณไม่ได้เอาเปรียบหน่วยงานและบริษัท เนื่องจากคุณทำงานอย่างเต็มที่ ได้ปฏิบัติตามระเบียบและรักษาทรัพย์สินของบริษัท และรวมถึงคุณไม่เอาความลับของบริษัทไปเปิดเผยให้คู่แข่งรับรู้ ซึ่งหมายถึงคุณกำลังรักษาผลประโยชน์ให้กับหน่วยงานและบริษัทของคุณเอง

หน้าที่และความรับผิดชอบ
ไม่รู้ว่า ใครบัญญัติไว้ เพราะอ่าน หรือเห็นทีไร มันมักจะมาพร้อม ๆ กัน
คงจะแยกกันไม่ออก บอกไม่ถูก มันเป็นอึก อึก อั่ก อั่ก ซะละมั๊งคาดว่า คำว่า หน้าที่ คือ สิ่งที่ต้องทำ ส่วนหลีกเลี่ยงได้หรือไม่นั้น ก็ว่ากันไปอีกเรื่อง
ส่วนคำว่า ความรับผิดชอบ คือ สิ่งที่ตามหลังมา
มันจะผิดจะถูกจะดีจะล้มเหลวจะอย่างไร
ก็ต้องยอมรับ 
ผล นั้น 
ถ้าผลออกมาดี เราก็ดีไป ถ้าผลออกมาไม่ดี ความซวยก็จะมาเยือนต่าง ๆ นานา..
ความรับผิดชอบ น่าจะเป็นเรื่องของ นามธรรม เป็นส่วนลึกของจิตใจ ส่วนมันจะลึกขนาดไหน แคะแกะเกาขุดค้นออกมาได้หรือไม่นั้นก็ว่าอีกเรื่อง เป็นต่อม ๆ หนึ่งที่หลั่งออกมาหลังจากที่เราทำหน้าที่ใดหน้าที่หนึ่งเสร็จสิ้น เป็นสิ่งที่คนทั่วไปใช้ใน การประเมิน ตัวเรา.
มักได้ยินเสมอ ... เฮ้ย งานนี้เจ๊งว่ะ ใครจะรับผิดชอบ??? หน้าที่ใครฟ๊ะ ผลงานออกมาห่วย ได้เป็นลำดับสุดท้าย แล้วงี้ใครจะรับผิดชอบ??? ฯลฯ ซึ่ง ความรับผิดชอบจุดนี้ จะเกิดจากการที่เราทำ หน้าที่ นั้น ล้มเหลว ไม่ดี เสียหาย.
แต่ ความรับผิดชอบ ด้านดี ดี ก็มี ที่ทำให้ คน มอง เรา บวกขึ้น ดูดีมีชาติตระกูล
เช่น อ่อ งานนี้ผลงานออกมาเป็นลำดับสุดท้าย ผมขอลาออกจากการเป็นประธานเรื่องนี้ และร่วมผิดค่าใช้จ่ายทั้งหมด...เอ้า ได้เสียเป็นเมียผัวกันแล้ว ก็รับผิดชอบแต่งงานแต่งการให้เป็นเรื่องราวซะ..
ก็ว่ากันไปแต่ละกรณี แต่ละกลุ่ม แต่ละองค์กร ....
แต่มองอีกอย่างหนึ่ง ถึงคำว่า รับผิดชอบ ซึ่งป๋าอาจมองไม่เหมือนใคร (ต้องทำใจ ป๋าเป็นคนพิเศษ เด็กพิเศษ นะเอออ....)

นั่นคือ 

ความรับผิดชอบต่อคำพูดของตัวเอง
พูดอะไรออกไป ควร  ต้อง ดูแล รับผิดชอบผลที่จะตามมาที่เกิดจากคำพูดของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นคำพูดผ่านโทรศัพท์มือถือ นั่งคุยกัน ฯลฯ และรวมถึง คำพูดที่ตัวเรากลั่นกรองร้อยเรียงผ่านหนังสือ ผ่านเว็บ ผ่านบล็อก ผ่านการคุย MSN ผ่านช่องทางการสื่อสารทุกชนิดทุกประเภทด้วย...
ยิ่งสมัยนี้ โลกไซเบอร์ คำพูดของเราถูกถ่ายทอดผ่านเว็บไซด์ได้รวดเร็ว ฉะนั้น สิ่งที่ออกไปสู่สายตาคนหลายล้านคน ย่อมมีทั้ง บวก และ ลบ ...ทีนี้ล่ะ เจ้าของคำพูด เจ้าของตัวหนังสือเหล่านี้ ควรทำอย่างไร??
รับผิดชอบ ผล ที่ตามมาอย่างไร ถ้าสิ่งที่พูดออกไป ถ่ายทอดออกไป ผลตามมา คือ บวก ก็ดีไป ..แต่ถ้าคนอ่านแล้ว ฟังแล้ว ผลคือ ลบ ก็คงไม่ดีนัก
อย่าลืมว่า เราไม่ได้อยู่คนเดียวในโลกกลม ๆ เบี้ยว ๆ ใบนี้... เรามี เพื่อน เรามี พ่อแม่พี่น้อง เรามี คนที่เรารัก และคนที่รักเรา เรามี ญาติที่รู้จักชื่อ และไม่รู้จักชื่อมากมาย
และที่สำคัญ
ไม่มีใครสามารถแก้ต่าง แก้ตัว แทนเราได้
ไม่ใช่คิดแต่เพียงว่า ...เออ เกิดมามีปากให้พูด ก็พูดไปเรื่อยเปื่อย ใครฟังได้ก็ฟัง ใครฟังไม่ได้ก็ไม่ต้องฟัง จะพูดซะอย่าง (แต่ไม่รับผิดชอบซะอย่าง) ...มันก็คงทำได้ล่ะคับ หากเราอยู่ในป่า ในเขา ในซอกหลืบเพียงคนเดียว อ๊ะ แต่ก็ไม่แน่นะ นกมีหู หนูมีปีก ลูกวัวแปดขา หมาแปดสี หมีสามหัวตัวติดกัน มันก็ยังมีคนไปสืบเสาะแสวงหามาจนได้ นับประสาอะไรกับคำพูดที่หลุดร่วงออกมาแบบไร้สติสัมปชัญญะ หรือไร้การไตร่ตรอง ก็ย่อมมี ใคร ได้ยิน ได้ฟัง ได้อ่าน มาบ้างล่ะ...
         

คุณธรรม จริยธรรม

               คุณธรรม จริยธรรม
               ความหมายของคุณธรรม จริยธรรม คำว่าจริยธรรม ซึ่งตรงกับคำในภาษาอังกฤษว่า Morality ได้มีผู้ให้ความหมายไว้ ดังนี้
               โชติ เพชรชื่น (2524 : 23) กล่าวว่าจริยธรรม ก็คือ “จริยะ” แปลว่าความประพฤติกิริยาที่ควรประพฤติ “ธรรม” คือ ความดี เมื่อรวมความหมายของสองคำเข้าด้วยกันคือ ความประพฤติดี กรมวิชาการ (2524 : 3-4) ไดให้ความหมายจริยธรรมว่าเป็นแนวทางของการประพฤติชอบทั้งกาย วาจา และใจ เพื่อประโยชน์ต่อตนเอง ผู้อื่น และสังคม
กระทรวงศึกษาธิการ (2548 : 2) ให้ความหมายคูณธรรมไว้ว่า สิ่งที่บุคคลส่วนใหญ่ยอมรับว่าดีงาม ซึ่งส่งผลให้เกิดการกระทำที่เป็นประโยชน์ และความดีงามที่ดีที่แท้จริงต่อสังคม
                จริยธรรม หมายถึง สิ่งที่บุคคลหรือสังคมยึดถือเป็นเครื่องมือช่วยตัดสิน และกำหนดการกระทำของตนเอง
                โคลเบอร์ก (Kohlberg). 1976 : 4-5) ได้ให้ความหมายของจิยธรรมไว้วา จริยธรรมมีพื้นฐานของความยุติธรรม คือมีการกระจายสิทธิและหน้าที่อย่างเท่าเทียมกัน โดยมิได้หมายถึงเกณฑ์บังคับทั่ว ๆ ไป แต่เป็นเกณฑ์ที่มีความเป็นสากลที่คนส่วนใหญ่รับไว้ในทุกสถานการณ์ ไม่มีการขัดแย้งเป็นอุดมคติ
                  เรสต์ (Rest . 1977 : 6) ได้ให้ความหมายของจริยธรรมว่า จริยธรรมเป็นมโนทัศน์ที่เกี่ยวข้องกับหลักความยุติธรรมในการมีปฏิสัมพันธ์กันในสังคม โดยไม่เกี่ยวข้องกับคุณค่าหรือความรู้สึกส่วนตัวของแต่ละบุคคล เช่น ความรู้สึกส่วนตัวที่จะพัฒนาตนเองถึงจุดสุดยอดแห่งศักยภาพของเขา
                  จากความหมายที่ได้กล่าวมาแล้ว สรุปได้ว่า คุณธรรม จริยธรรม หมายถึง คุณลักษณะที่เกี่ยวกับการประพฤติปฏิบัติ ตลอดจนการคิดในทางที่ถูกต้อง ดีงาม มีคุณประโยชน์ทั้งตนเอง ละส่วนรวมสามารถควบคุมตนเองในการประพฤติปฏิบัติ และการปรับตัวเพื่อความสงบสุขในการอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขในสังคม  การส่งเสริมคุณธรรมนำความรู้ คุณธรรมพื้นฐาน 8 ประการ  ขอบข่ายของคุณธรรม จริยธรรม ที่จำเป็นในการดำรงชีวิตอย่างมีความสุข ที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ต้องการให้เกิดขึ้นกับผู้เรียน และเยาวชน ได้แก่  ขยัน ประยัด ซื่อสัตย์ มีวินัย สุภาพ สะอาด สามัคคี และมีน้ำใจ ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้  ขยัน คือ ผู้ที่มีความตั้งใจเพียรพยายามทำหน้าที่การงานอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ในเรื่องที่ถูกที่ควร สู้งาน มีความพยายาม ไม่ท้อถอย กล้าเผชิญอุปสรรค รักงานที่ทำ ตั้งใจทำหน้าที่อย่างจริงจัง  ประหยัด คือ ผู้ที่ดำเนินชีวิตความเป็นอยู่อย่างเรียบง่าย รู้จักฐานะทางการเงินของตน คิดก่อนใช้ คิดก่อนซื้อ เก็บออมถนอมใช้ทรัพย์สินสิ่งของอย่างคุ้มค่า ไม่ฟุ่มเฟือย   ไม่ฟุ้งเฟ้อ รู้จักทำบัญชีรายรับ – รายจ่าย ของตนเองอยู่เสมอ  ซื่อสัตย์ คือ ผู้ที่มีความประพฤติตรงทั้งต่อเวลา ต่อหน้าที่ และต่อวิชาชีพ มีความจริงใจปลอดจากความรู้สึกเอนเอง หรืออคติ ไม่ใช้เล่ห์กลคดโกงทั้งทางตรงและทางอ้อม รับรู้หน้าที่ของตนเองปฏิบัติอย่างเต็มที่และถูกต้อง  มีวินัย คือ ผู้ที่ปฏิบัติตนในขอบเขต กฎ ระเบียบของสถานศึกษาสถาบัน องค์กร และประเทศ โดยที่ตนยินดีปฏิบัติตามอย่างเต็มใจ และตั้งใจยึดมั่นในระเบียบแบบแผน ข้อบังคับ และข้อปฏิบัติ รวมถึงการมีวินัยทั้งต่อตนเอง และสังคม สุภาพ คือ คือ ผู้ที่มีความอ่อนน้อมถ่อมตน ตามสถานภาพ และกาลเทศะ  มีสัมมาคารวะ เรียบร้อย ไม่ก้าวร้าว รุนแรง หรือวางอำนาจข่มผู้อื่นทั้งโดยวาจา และท่าทางเป็นผู้มีมารยาทดีงาม วางตนเหมาะสมกับวัฒนธรรมไทย  สะอาด คือ ผู้ที่รักษาร่างกาย ที่อยู่อาศัย และสิ่งแวดล้อมได้อย่างถูกต้องตามสุขลักษณะ ฝึกฝนจิตไม่ให้ขุ่นมัว มีความแจ่มใสอยู่เสมอ ปราศจากความมัวหมองทั้งกาย ใจ และสภาพแวดล้อม มีความผ่องใส เป็นที่เจริญตา ทำให้เกิดความสบายใจแก่ผู้พบเห็น
สามัคคี คือ ผู้ที่เปิดใจกว้าง รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น รู้บทบาทของตน  ทั้งในฐานะผู้นำ และผู้ตามที่ดี มีความมุ่งมั่นต่อการรวมพลัง ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เพื่อให้การทำงานสำเร็จลุล่วง สามารถแก้ปัญหาและขจัดความขัดแย้งได้ เป็นผู้มีเหตุผล ยอมรับความแตกต่าง    ความหลากหลายทางวัฒนธรรม ความคิดและความเชื่อ พร้อมที่จะปรับตัว เพื่ออยู่ร่วมกันอย่างสันติและสมานฉันท์  มีน้ำใจ
 คือ ผู้ให้และผู้อาสาช่วยเหลือสังคม รู้จักแบ่งปัน เสียสละความสุขส่วนตน เพื่อทำประโยชน์ให้แก่ผู้อื่น เห็นอกเห็นใจ และเห็นคุณค่าในเพื่อนมนุษย์ และผู้ที่มีความเดือดร้อน มีความเอื้ออาทรเอาใจใส่ อาสาช่วยเหลือสังคมด้วยแรงกาย และสติปัญญา ลงมือปฏิบัติการเพ่อบรรเทาปัญหา หรือร่วมสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงามให้เกิดขึ้นในชุมชน